วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ค่านิยมทางเพศ

ค่านิยมทางเพศ

ค่านิยมทางเพศ (Sexual Value) หมายถึง หลักการพื้นฐานที่บุคคลยึดเป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตซึ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยค่านิยมทางเพศของบุคคลเกิดจากการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ในสถาบันครอบครัว ระบบการศึกษา ประสบการณ์ กระบวนการขัดเกลาและถ่ายทอดทางสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ 
ค่านิยมทางเพศที่เหมาะสมที่ควรพิจารณาและนำไปปฏิบัติมีดังนี้
๑.      ค่านิยมความรักนวลสงวนตัว โดยเฉพาะในเพศหญิงซึ่งควรระวังเนื้อ ระวังตัว ไม่เปิดเผย แสดงออกลักษณะทางเพศมากเกินไปเช่น นุ่งกางเกงหรือกระโปรงสั้นเกินพอดี ใส่สายเดี่ยวบางๆ ใส่เสื้อผ้าบางรัดรูป เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศได้ ทำให้ชายและหญิงไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกันหรือแตะเนื้อต้องตัวกันมากเกินไป จนเกิดอารมณ์ทางเพศตามมาได้
๒.      ค่านิยมการให้เกียรติและการวางตัว ผู้ชายควรมีความเป็นสุภาพบุรุษและให้เกียรติผู้หญิง ไม่ดูถูกเหยียดเพศ เช่นเดียวกัน ผู้หญิงก็ต้องให้เกียรติผู้ชาย และวางตัวอย่างเหมาะสมไม่อยู่ที่เปลี่ยวตามลำพังสองต่อสอง พูดจากันด้วยภาษาสุภาพเรียบร้อย แสดงความมีน้ำใจช่วยเหลือกันเป็นต้น
๓.      ค่านิยมการสร้างคุณค่าความดีงามในจิตใจ ความดีงามในจิตใจเป็นสิ่งมีคุณค่าเพราะเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปในสังคมต้องการ ดังนั้นจึงควรปลูกฝังและสร้างคุณธรรมความดีให้เกิดแก่หมู่วัยรุ่น เพื่อที่เด็กๆ เหล่านั้นจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติต่อไป
๔.      ค่านิยมความเข้าใจในความเหมือนและความแตกต่างระหว่างเพศ ทั้งชายและหญิงควรเข้าใจในความแตกต่างทางสภาพสรีระของทั้งสองฝ่าย และให้เกียรติช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น ผู้ชายที่ธรรมชาติสร้างมาให้แข็งแรงกว่าผู้หญิง ผู้ชายก็ไม่ควรไปรังแกผู้หญิง แต่ต้องช่วยเหลือผู้หญิงในด้านต่างๆ เป็นต้น

ค่านิยมทางเพศในวัฒนธรรมไทย
ในประเทศไทย มีความเป็นไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยเฉพาะค่านิยมในเรื่องเพศ  ซึ่งมักมีมุมมองได้ ๒ ทาง ดังนี้คือ
        ๑.ค่านิยมทางเพศในเรื่องที่ค่อนข้างปิดกั้นของคนไทย ได้แก่
          ๑.๑  การไม่เผยแพร่ความจริงในเรื่องเพศหรือการไม่ให้ความรู้เรื่องเพศแก่ บุตรหลาน โดยคิดว่าเป็นเรื่องหยาบคาย หรือน่าอาย
          ๑.๒ การไม่สนันสนุนหรือส่งเสริมให้บุคคลในสังคมพูดคุยกันในเรื่องเพศอย่างเปิดเผย
          ๑.๓ การยกย่องให้เพศชายเป็นใหญ่กว่าเพศหญิง
        ค่านิยมเหล่านี้ทำให้บุคคลในสังคมมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องรวมทั้งมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้อง เช่น  การเอาเปรียบเพศตรงกันข้ามเมื่อมีโอกาส ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ การดูถูกเพศตรงกันข้าม   อันเป็นผลต่อความรักความผูกพัน ความสงบสุข ในครอบครัวและสังคมโดยรวม
        ๒.ค่านิยมทางเพศที่ดีของสังคมไทย
              ๒.๑ หญิงไทยมักจะรักนวลสงวนตัว ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน
              ๒.๒ ชายไทยไม่ควรสำส่อนทางเพศเพราะอาจเกิดผลเสียโดยการติดโรค
              ๒.๓ ชายไทยมีความรับผิดชอบต่อเพศหญิง ไม่หลอกลวง ไม่ข่มเหงน้ำใจ
              ๒.๔ ชายไทยรับผิดชอบต่อครอบครัว
        สำหรับวัยรุ่นในปัจจุบันควรมีเจตคติที่ดีว่าทั้งสองเพศมีความสำคัญเท่าเทียมกัน การสร้างสรรค์สังคมจึงจะเกิดขึ้น ค่านิยมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีและยังใช้ได้ในสังคมปัจจุบัน วัยรุ่นจึงควรรักษาค่านิยมที่ดีไว้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา เช่น ครอบครัวแตกแยก โรคทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์นอกสมรส การค้าประเวณี การสำส่อนทางเพศ เป็นต้น
ค่านิยมทางเพศตามสังคมและวัฒนธรรมตะวันตก
ปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมทางสังคมของไทยมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องมากจากเทคโนโลยีและการสื่อสารที่ก้าวหน้า รวดเร็ว ส่งผลทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบ และดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งวัฒนธรรมบางอย่างก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย โดยเฉพาะการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม
การเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกไม่ว่าจากสื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือ หรืออินเทอร์เน็ตก็ตาม ได้ทำให้ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยเปลี่ยนไป ซึ่งวัฒนธรรมบางอย่างส่งผลดี เช่น การกล้าแสดงความคิดเห็น ความขยัน และความทุ่มเทให้กับงาน การมองโลกในแง่บวก การมีแนวคิดที่ดีต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่วัฒนธรรมบางอย่างกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย จากพฤติกรรมวัยรุ่น เช่น เสรีภาพในการคบเพื่อนต่างเพศ ซึ่งบางครั้งมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ การถูกเนื้อต้องตัวระหว่างชายกับหญิงมีมากขึ้น พฤติกรรมการแสดงออกทางเพศในที่สาธารณะ เช่น การโอบกอด การแต่งกายที่ล่อแหลม กิริยามารยาทที่ไม่เรียบร้อย การแสดงออกอย่างเปิดเผยในเรื่องเพศ หรือการที่วัยรุ่นหญิงบางคนตามจีบผู้ชาย เป็นต้น
อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่มีต่อพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นในสังคมไทย พอจะสรุปได้ดังนี้
(๑) ปัญหาเรื่องเพศ เช่น การคบเพื่อนต่างเพศอย่างไม่เหมาะสม การออกเที่ยวกลางคืนกับเพื่อนต่างเพศ การแต่งกายดึงดูดเพศตรงข้าม เปิดเผยให้เห็นของสงวนมากเกินไป การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เป็นต้น
     (๒) ปัญหาสังคม เช่น การมั่วสุมกันในสถานเริงรมย์ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การทำแท้ง การใช้สารเสพติด เป็นต้น
     ดังนั้น เมื่อไม่อาจสกัดกั้นวัฒนธรรมต่างๆ ที่แพร่กระจายเข้ามาได้ จึงควรเลือกและสร้างค่านิยมในเรื่องเพศที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย เช่น ลด ละ เลิก การเที่ยวสถานบริการทางเพศ ไม่สำส่อนทางเพศ ไม่คบเพื่อนต่างเพศโดยไม่เลือกหน้า ฝ่ายชายแสดงความเป็นสุภาพบุรุษให้เกียรติไม่ล่วงเกินสุภาพสตรี เป็นต้น
ค่านิยมทางเพศของสังคมไทยในปัจจุบัน
     สำหรับปัจจุบันนั้น สังคมไทยมีการเปิดเผยและยอมรับในการศึกษา หรือพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศมากขึ้น ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจเรื่องเพศศึกษามากขึ้น รวมถึงการมีค่านิยมทางเพศที่ดี เช่น การให้เกียรติ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน, การรักนวลสงวนตัว, ความเข้าใจในความแตกต่างทางเพศ ฯลฯ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันนั้น มีการยอมรับสิทธิสตรีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก มูลนิธิเพื่อเด็กและสตรี ไปจนถึงการทำงานหน้าที่ต่างๆ ที่ปัจจุบันผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทผู้นำมากขึ้น และสังคมไทยนั้น หันกลับมายอมรับเกี่ยวกับเพศที่สามมากยิ่งขึ้น และลดการกดขี่ ดูถูก เพศที่สาม แต่ค่านิยมบางประการก็ถือได้ว่าเป็นวิกฤติ เช่น การแต่งกายยั่วยวนตามแบบตะวันตก, การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน, การตั้งครรภ์ในวัยเรียน รวมไปถึงการค้าประเวณี เป็นต้น

บรรณานุกรม
นิวัฒน์ บุญสม. ม.ป.ป. ค่านิยมทางเพศกับวัฒนธรรม. มหิดลวิทยานุสรณ์.
บ้านจอมยุทธ. ม.ป.ป. ค่านิยมทางเพศที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก URL :
http://www.vimanloy.com/lesson/lesson3_4.php. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2558.
วิรุจน์ เมืองมูล. ม.ป.ป. ค่านิยมทางเพศที่เหมาะสมกับวัยรุ่น. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก URL :
https://sites.google.com/site/kruwiruttwk/kha-niym-thang-phes-thi-hemaa-sm-khxng-way-run. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2558.
สุพจน์ อนุตรพงศ์. (2553). ค่านิยมทางเพศ. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก URL :
http://www.baanjomyut.com/library_3/extension-1/sexual_value/index.html. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2558.



จัดทำโดย
นางสาวณัฐชนน เฉลิมชัยชวลิต   เลขที่ 4
นางสาวพัชริยา   ผาติรงควิวัฒน์   เลขที่ 8
นายณยศ           ดีประเสริฐกุล     เลขที่ 10
นายประวีณ        สิงห์ศักดิ์ศรี       เลขที่ 14
นายพงศ์สวัสดิ์   บูรพัฒนศิริ         เลขที่ 18
นายพิชิตชัย       ไชยบุตร           เลขที่ 22
ม.5/4